พฤษภาคม 2, 2022
ตรวจสอบเครนในโรงงานควรทำการตรวจสอบเมื่อไหร่ถึงจะถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด
เครน คืออะไร
เครน (Cranes) หรือที่เรียกว่าปั้นจั่น หมายความว่า เครื่องจักรที่ใช้ยกสิ่งของขึ้นลงตามแนวดิ่ง และเคลื่อนย้ายสิ่งของเหล่านั้นในลักษณะแขวนลอยไปตามแนวราบ เครน มีหลายชนิด แต่ที่นิยมใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมจะเป็นประเภทเครนเหนือศีรษะ (Overhead Crane) เพราะมีโครงสร้างที่ไม่ใหญ่มากนักและใช้พื้นที่น้อย สามารถยกวัตถุได้ง่าย และไม่ทำให้โครงสร้างของสถานที่รับภาระหนักเกินไป
การตรวจสอบเครนต้องทำเมื่อไหร่ และต้องทำอะไรบ้าง
ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่น ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2554 กำหนดว่า
ข้อ 3 ให้นายจ้างจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นตามประเภทและลักษณะของงานดังนี้
1. ปั้นจั่นที่ใช้ในงานก่อสร้าง
(ก) ขนาดพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนดไม่เกิน 3 ตัน ต้องจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่น ทุก 6 เดือน
(ข) ขนาดพิกัดยกมากกว่า 3 ตันขึ้นไป ต้องจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นทุกๆ 3 เดือน
(ค) ที่ไม่มีรายละเอียดขนาดพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนดในการทดสอบ ให้นายจ้างทดสอบโดยใช้ขนาดพิกัดยกตามที่วิศวกรกำหนด
2. ปั้นจั่นที่ใช้ในงานอื่นๆ
(ก) ขนาดพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนดตั้งแต่ 1 ตัน แต่ไม่เกิน 3 ตัน ต้องจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นปีละหนึ่งครั้ง
(ข) ขนาดพิกัดยกมากกว่า 3 ตัน แต่ไม่เกิน 50 ตัน ต้องจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นทุกๆ 6 เดือน
(ค) ขนาดพิกัดรคมากกว่า 50 ตันขึ้นไป ต้องจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่น ทุกๆ 3 เดือน
(ง) ที่ไม่มีรายละเอียดขนาดพิกัดยกอย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด ในการทดสอบ ให้จ้างทดสอบโดยใช้ขนาดพิกัดยกตามที่วิศวกรกำหนด
และประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ยังได้กำหนดไว้อีกว่า “ข้อ 4 ปั้นจั่นตามข้อ 3 ที่มีการหยุดใช้งานตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปหรือปั้นจั่นที่มีการซ่อมแซมที่มีผลต่อความปลอดภัยของปั้นจั่น ก่อนนำมาใช้งานใหม่ต้องจัดให้มีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่น” ไม่ว่าจะเป็นปั้นจั่นในงานก่อสร้างหรือปั้นจั่นในโรงงานอุตสาหกรรมก็ตาม นอกจากประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กำหนดว่าต้องมีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นแล้ว ยังกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบไว้ใน ข้อ 5 หลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นให้ดำเนินการดังนี้
1. การทดสอบการรับน้ำหนัก (Test Load)
(ก) ปั้นจั่นใหม่ ก่อนจะนำมาใช้งานให้ทดสอบการรับน้ำหนักดังนี้
– ขนาดไม่เกิน 20 ตัน ให้ทดสอบการรับน้ำหนักที่ 1 เท่า แต่ไม่เกิน 1.25 เท่าของพิกัดยกอย่างปลอดภัย
– ขนาดไม่เกิน 20 ตัน ให้ทอสอบการรับน้ำหนักที่ 1 เท่า แต่ไม่เกิน 1.25 เท่าของพิกัดยกอย่างปลอดภัย
– ขนาดมากกว่า 20 ตัน แต่ไม่เกิน 50 ตัน ให้ทดสอบการรับน้ำหนักเพิ่มอีก 5 ตัน จากพิกัดยกอย่าง
ปลอดภัย
(ข) ปั้นจั่นที่ใช้งานแล้ว ให้ทดสอบการรับน้ำหนักที่ 1.25 เท่าของน้ำหนัก ที่ใช้งานจริงสูงสุดโดยไม่เกินพิกัดยก
อย่างปลอดภัยตามที่ผู้ผลิตกำหนด กรณีไม่มีพิกัดยกอย่างปลอดภัยที่ผู้ผลิตกำหนด ให้ทดสอบการรับน้ำหนักตามที่วิศวกรกำหนด
น้ำหนักที่ใช้ทดสอบการยก อาจใช้การทดสอบด้วยน้ำหนักจริง หรือทดสอบด้วยน้ำหนักจำลอง (Load Simulation)
2. การวัดขนาดและเส้นผ่านศูนย์กลางให้ใช้เครื่องมือที่มีความละเอียดในการวัดไม่น้อยกว่า 0.1 มิลลิเมตร
3. การตรวจสอบแนวเชื่อมให้ดำเนินการโดยวิธีตรวจพินิจด้วยสายตา หรือโดยวิธีอื่นที่เหมาะสม
จากข้อกำหนดของกฎหมายข้างต้น เราในฐานะเจ้าของโรงงาน เราอาจไม่สามารถทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นด้วยตนเองได้ เราก็สามารถจ้างบริษัทที่รับดำเนินการได้ ซึ่งปัจจุบันมีหลายบริษัท ที่รับดำเนินการดังกล่าว แต่เราก็ต้องตรวจสอบการขึ้นทะเบียนของผู้รับตรวจสอบด้วยว่า ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
ทำไมต้องตรวจสอบเครน
นอกจากข้อกำหนดของกฎหมาย ที่บอกว่า ต้องทำการตรวจสอบตามพิกัดของน้ำหนักยกแล้ว เราคงเคยได้ยินข่าว เรื่องเครนล้ม ในระหว่างการใช้งาน หรือสลิงขาด ทำให้สิ่งที่ยกตกลงมาทับทรัพย์สิน ทำให้เสียหาย ซึ่งจากอุบัติเหตุที่กล่าวมา ล้วนแล้วมาจากสภาพของปั้นจั่นที่ไม่พร้อมใช้งาน ไม่ผ่านการทดสอบอุปกรณ์และส่วนประกอบของปั้นจั่นทำให้เกิดอุบัติเหตุดังกล่าวขึ้น ซึ่งอุบัติเหตุที่เกิดจากปั้นจั่น มักจะมีความรุนแรงเสมอ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น จึงต้องทำการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นตามระยะเวลาอย่างสม่ำเสมอ
เนื่องจากในหนึ่งสถานที่ อาจมีปั้นจั่นหลายตัวที่มีพิกัดการยกแตกต่างกัน ทำให้รอบเวลาการทดสอบแตกต่างกันไปด้วย จึงจำเป็นต้องทำแผนการทดสอบประจำปี เพื่อป้องกันการลืมทดสอบอุปกรณ์และส่วนประกอบของปั้นจั่น จากที่กล่าวมาข้างต้น หลังจากที่มีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นแล้วทางผู้ตรวจจะออกรายงานการตรวจสอบและการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์สำหรับปั้นจั่นเหนือศีรษะ ปั้นจั่นหอสูงและปั้นจั่นขาสูง (ปั้นจั่นชนิดอยู่กับที่) หรือที่เรียกว่า แบบ ปจ.1 ให้กับทางผู้ว่าจ้าง ซึ่งข้อกำหนดของรายงานได้ระบุไว้ ในข้อ 6 ของประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่น และทางผู้ว่าจ้างต้องเก็บรายงานดังกล่าวไว้ เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้